วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิงนับเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และการปรับตัวเข้ากับสังคม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องวัยทองเพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้สตรีวัยทองสามารถดูแลตนเองและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ อายุเท่าไหร่ถึงจะถูกเรียกว่าวัยทอง (คงไม่มีใครอยากใช้คำนี้กับตัวเองหรอก) เริ่มตั้งแต่ผู้หญิงอายุ 45-50 ปี สามารถเกิดวัยทองได้ แต่โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่ช่วงอายุ 48-49 ปี จะเข้าสู่วัยทอง สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่จะเกิดวัยทองได้เร็วกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่ และผู้ที่ตัดรังไข่ก็สามารถเกิดวัยทองได้ทันทีหลังตัดรังไข่
เตรียมพร้อมเข้าสู่วัยทองอย่างไร เมื่อรู้เหตุและปัญหาของ “วัยทอง” แล้ว ก็ควรที่จะเตรียมร่างกาย จิตใจ และการเริ่มต้นไม่ใช่เพียงมาเริ่มเอาเมื่ออายุ 40 ปี หรือเฉียดๆ จะเป็นวัยทอง แต่ควรจะมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ถ้าจะคิดเริ่มเอาเมื่ออายุ 30 40 ก็ยังไม่สายเกินไปนัก เพียงแค่หากเปรียบเทียบการเดินข้ามสะพานไม้แคบๆ คนหนุ่มสาวมักจะเดินทรงตัวได้ดีกว่าคนที่อายุมากแล้วก็เท่านั้นเอง การฝึกบุคลิกภาพ ฝึกจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคง จะช่วยลดปัญหาสภาพจิตใจแปรปรวนได้เป็นอย่างดี รู้จักวิธีผ่อนคลาย จัดการกับความเครียด เพราะคนเรายิ่งมีอายุมากขึ้นยิ่งมีขยะอารมณ์เพิ่มเป็นเงาตามตัว หากไม่รู้จักวิธีขจัดจะกลายเป็นสะสมเมื่อมันทะลักล้นก็จะควบคุมไม่ได้ คนเรารู้จักวิธีคิด วิธีวิเคราะห์ แต่คนเราไม่รู้วิธีหยุดคิด ดังนั้นต้องรู้จักการหยุดคิด ด้วยการนั่งสมาธิ ฝึกชีกง โยคะ ให้ลมหายใจกำหนดอยู่ที่จิตใจ ต่อมาเรื่องสุขภาพร่างกาย สิ่งแวดล้อม ก็เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เปรียบเหมือนต้นไม้ที่เจริญเติบโตงอกงามด้วยปุ๋ย ดิน อากาศ น้ำ ดังนั้นเราก็ควรเตรียมความพร้อมด้านนี้ด้วย เช่น อาหาร น้ำ แสงแดด อากาศ ต้องได้รับสิ่งที่ดีมีประโยชน์ “วัยทอง” ก็เปรียบเหมือนหนังที่เป็นเรื่องราวต่อเนื่องในช่วงชีวิตของคนเรา ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า วัยหมดประจำเดือนไม่ใช่วัยเริ่มต้นสู่วัยชรา เพราะสตรีวัยนี้ยังคงทำงานได้อย่างกระฉับกระเฉง ดังนั้นอย่าวิตกกับการที่ชีวิตกำลังเข้าสู่ภาวะ “วัยทอง” การดูแลสุขภาพของสตรีวัยทอง โดยทั่วไปแล้วสตรีวัยทองที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยสามารถที่จะดูแลสุขภาพของตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งได้แก่ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย อนามัยเจริญพันธุ์ และอนามัยสิ่งแวดล้อม •อาหาร เลือกอาหารที่มีประโยชน์ มีแคลเซียมสูง ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพิ่มอาหารที่มีเส้นใย ดื่มน้ำมากๆ •อารมณ์ ควบคุมอารมณ์และฝึกการมองโลกในแง่บวก มีอารมณ์ที่แจ่มใสอยู่เสมอ •ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง นานครั้งละ 30 นาที •อนามัยเจริญพันธุ์ ตรวจสุขภาพประจำปีและเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเป็นประจำ •อนามัยสิ่งแวดล้อม พักอาศัยและทำงานในบริเวณที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและสุขอนามัยดี ทั้งนี้หากได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตแล้ว แต่ยังคงมีอาการของวัยทองที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงหรือมีโรคที่เกี่ยวข้องกับวัยทอง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการดูแลรักษา